พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๒๖ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม การทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
การดำเนินการต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนด้านการอุดมศึกษา และสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของประเทศในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการ รายใหม่ให้แก่ประเทศ การพัฒนากำลังคนของประเทศ และการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมีพลเมืองที่มีคุณภาพ
มาตรา ๒๗ สถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินการให้คณาจารย์และบุคลากรอื่นมีความรู้เท่าทันความก้าวหน้าทางวิชาการในโลก พัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยให้ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ ความเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และเทคโนโลยี และส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผลงานทางวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ
มาตรา ๒๘ สถาบันอุดมศึกษาพึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน นำความรู้ ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และนำไปใช้ในการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้กับประเทศ
รวมถึงกำหนดมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อการประกอบธุรกิจใหม่ หรือนำความรู้ ผลการวิจัย หรือนวัตกรรมไปใช้โดยมีหรือไม่มีประโยชน์ตอบแทน
นอกจากการจัดการศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมแล้ว สถาบันอุดมศึกษายังต้องมีการบริการวิชาการแก่สังคม ดังในมาตรา ๔๐ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาทางวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมแก่ภาครัฐภาค เอกชน ชุมชน และสังคม เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นที่พึ่งทางวิชาการของชุมชนและสังคม ต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษานั้นหรือพื้นที่อื่นตามที่สถาบันอุดมศึกษาเห็นสมควร และต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับสังคมเพื่อสร้างเสริมจิตสาธารณะในการนำความรู้และประสบการณ์มาใช้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม
มาตรา ๔๑ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์และบูรณาการการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนและกิจกรรมของผู้เรียน
จากภารกิจดังกล่าว หลักสูตรบัณฑิตศึกษาจึงนำมาเป็นแนวทางในการบริหารงานของหลักสูตรโดยอนุโลม สรุปเป็นแผนภูมิการบริหารหลักสูตร ดังนี้
การบริหาร เป็นงานพื้นฐานของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานดำเนินไปได้อย่างมั่นคง และช่วยส่งเสริมงานภาระงานด้านอื่นให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากจะประกอบไปด้วย งานสารบรรณ งานแผน งบประมาณ โครงการ งานบุคลากร งานการเงิน บัญชี งานทะเบียนนิสิต งานประชุม พิธีการ งานประชาสัมพันธ์ และงานประกันคุณภาพ เป็นต้น
การจัดการศึกษา เป็นงานหลักที่สำคัญของสถาบันหรือหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งมีภารงานประกอบไปด้วย งานหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดหาห้องเรียน การศึกษาดูงาน การพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ เทคโนโลยีการศึกษา กิจกรรมเสริมเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติการวิชาชีพ วิชาเสริมการเรียนรู้ เช่น ภาษาอังกฤษ บาลี และการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม เป็นงานการศึกษา ค้นคว้า เรียบเรียง และนำเสนอผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมที่ได้ทำการศึกษามา และต้องให้มีความถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย และก่อนจะเริ่มดำเนินการก็ต้องมีคุณสมบัติครบตามหลักสูตรกำหนดก่อน ได้แก่ การสอบ Q.E. (ป.เอก) การเข้าคลินิกวิทยานิพนธ์ การกำหนดหัวข้อโครงร่าง การสอบ ๓ บท การดำเนินการวิจัย การสนทนากลุ่ม (ป.เอก) การสอบดุษฎีพิจารณ์ (ป.เอก) การสอบป้องกัน จนถึงการเสนอบทความวิจัยต่อเวทีสาธารณะ
การบริการวิชาการ และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เป็นงานที่สถาบันหรือหลักสูตรต้องดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมส่วนรวม โดยการกำหนดเป็นแผนงาน โครงการ งบประมาณ (Plan) การจัดกิจกรรมตามแผน (Do) การสรุปและรายงานผล (Check) การประเมินผลและเตรียมโครงการใหม่ (Act) ตามรอบปีงบประมาณ หรือเป็นโครงการระยะยาว ตามความเหมาะสม