คณะครุศาสตร์ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา นับเป็นคณะที่ ๒ ต่อจากคณะพุทธศาสตร์ ในระยะแรกจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น ๔ ภาควิชา คือ ภาควิชาการศึกษา ภาควิชาจิตวิทยา ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๖ ได้ปรับปรุงโดยแบ่งเป็น ๓ ภาควิชา คือ ภาควิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอนสังคมศึกษา และภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน
ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์แบ่งส่วนงานตามประกาศ พ.ศ.๒๕๕๖ เป็น ๖ ส่วน ได้แก่ สํานักงานคณบดี ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ภาควิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา และกลุ่มงานหรือโครงการพิเศษหลายโครงการ
วัตถุประสงค์ของคณะครุศาสตร์
๑. เพื่อจัดการศึกษาแก่พระสงฆ์และบุคคลทั่วไป ให้มีความรู้ในศาสตร์ความเป็นครู การจัดการศึกษา เทคนิคการสอน และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๒. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจ และปัญญา รู้จักเสียสละเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม
๓. เพื่อประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การวิจัย และบริการ
๔. เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษาและพุทธธรรมสู่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ธำรงรักษาเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาไทย
การจัดการศึกษา
คณะครุศาสตร์ จัดการศึกษาปริญญาตรี ๖ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว สังคมศึกษา การสอนภาษาไทย การสอนภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ระดับประกาศนียบัตร ๓ หลักสูตร คือ ประกาศนียบัตรวิชาการเทศนา (ป.ทศ.) การสอนศีลธรรมในโรงเรียน (ป.สศ.) และประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู
ระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโท ๔ คือ สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา การสอนสังคมศึกษา จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว และการสอนภาษาอังกฤษ ปริญญาเอก ๒ สาขาวิชา คือ พุทธบริหารการศึกษา และการสอนสังคมศึกษา
ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ
ปรัชญา : ศึกษาดี มีคุณธรรม นำความรู้สู่สังคม
ปณิธาน : จะพัฒนาบัณฑิตให้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำ
ด้านจิตใจและปัญญา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา
วิสัยทัศน์ : จัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่
และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม
พันธกิจ : จัดการศึกษา วิจัยและสร้างนวัตกรรม
ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม
ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
สีประจำคณะ : สีแดง
คณบดีคณะครุศาสตร์
๑. พระมหาจำลอง ภูริปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๑๑–๒๕๒๑ (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก)
๒. พระมหากนกพันธุ์ องฺควณฺโณ (นงนุช) พ.ศ. ๒๕๒๒–๒๕๒๓
๓. พระมหาณรงค์ จิตฺตโสภโณ (เชิดสูงเนิน) พ.ศ. ๒๕๒๓–๒๕๒๓ (พระสุธีวรญาณ, รศ.ดร.)
๔. พระมหากิตติ อตฺตาโภ พ.ศ. ๒๕๒๓–๒๕๒๔
๕. พระประสิทธิสุตคุณ (สวัสดิ์ อตฺถโชโต) พ.ศ. ๒๕๒๔–๒๕๓๐ (พระธรรมพุทธิวงศ์)
๖. พระครูศรีธรรมปฏิภาณ (สมภพ ปุญฺญาคโม) พ.ศ. ๒๕๓๐–๒๕๓๓
๗. พระครูวินัยธรสุเมธ ธีรธมฺโม (ขำสวัสดิ์) พ.ศ. ๒๕๓๓–๒๕๓๖
๘. พระสุวรรณเมธาภรณ์ (ขุนทอง สุวณฺณเมโธ), ผศ. พ.ศ. ๒๕๓๖–๒๕๔๐และ พ.ศ. ๒๕๔๑–๒๕๕๒
๙. พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล (กุลเพชร์), ผศ.ดร. พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑ และ พ.ศ. ๒๕๕๓–๒๕๕๗
๑๐. พระครูโสภณพุทธิศาสตร์, ผศ.ดร. (เชี่ยว ชิตินฺทริโย) พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๑
๑๑. พระราชสุตาภรณ์, รศ.ดร. (ประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๕
๑๒. พระครูโอภาสนนทกิตติ์, ผศ.ดร. (ศักดา โอภาโส) รักษาการแทน พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖
๑๓. พระมหาบัณฑิต บณฺฑิตเมธี, ดร. ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๕๖๖-ปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๔๘ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดศึกษาครั้งสำคัญ เพราะมีการปรับหลักสูตรปริญญาตรีให้เป็นหลักสูตร ๕ ปี ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ภาควิชาบริหารการศึกษา ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา เป็นรุ่นที่ ๑ เป็นสาขาวิชาแรกของคณะ จัดการเรียนการสอน ณ อาคารเรียนวัดศรีสุดาราม
พ.ศ.๒๕๕๒ คณะครุศาสตร์ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ไปที่วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ วิทยาเขตขอนแก่น และวิทยาเขตนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ ตามลำดับ พร้อมได้พัฒนาสำนักงานบัณฑิตศึกษาขึ้นที่ชั้น ๕ อาคารเรียนรวม เพื่อรองรับมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก
พ.ศ.๒๕๕๔ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา รับนิสิตรุ่นที่ ๑ และได้รับความเห็นชอบหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อ ๗ กันยายน ๒๕๕๕
พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา ที่วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์
พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา โดยเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาเป็น “พุทธบริหารการศึกษา”
พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น “ครุศาสตรมหาบัณฑิต” และ “ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ในปีเดียวกันนี้ ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตที่วิทยาลัยสงฆ์ขอนแก่นด้วย
พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ให้การรับทราบหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งสองหลักสูตร และคุรุสภารับรองมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิต ซึ่งทำให้หลักสูตรสามารถกล่าวได้ว่า “มีมาตรฐานคุรุสภา บูรณาการวิถีพุทธ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
พ.ศ. ๒๕๖๓ เปิดหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา ที่วิทยาลัยสงฆ์เลย
พ.ศ. ๒๕๖๕ เปิดหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา ที่วิทยาลัยสงฆ์สุรินทร์